top of page

เงินฝืด

      ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่ว ๆ ไป ลดลงเรื่อย ๆ  เงินฝืดเกิดขึ้นเนื่องจากอุปสงค์มวลรวมลดลง เงินฝืดจะทำให้การลงทุนลดลง การจ้างงานลดลง และการว่างงานจะมากขึ้น  การแก้ไขปัญหาเงินฝืด ทำได้โดยกระตุ้นให้อุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น
 

ภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืด   

      สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศด้อยพัฒนา ประเทศพัฒนา หรือประเทศอุตสาหกรรม ถ้าเป็นภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดอย่างอ่อน ๆ ย่อมเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าเกิดภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดอย่างปานกลางและอย่างรุนแรงแล้ว ย่อมสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมากต่อประเทศชาติ  การแก้ไขไม่สามารถกระทำให้สำเร็จลุล่วงในระยะเวลาอันสั้น นอกจากใช้นโยบายทางการเงินและการคลังแล้ว ประชาชนในประเทศจะต้องร่วมมือด้วย เพราะประเทศชาติเป็นเรื่องของคนเป็นจำนวนมาก ไม่เหมือนกับระบบครอบครัว ซึ่งแก้ไขได้รวดเร็วกว่า

 

 

เงินเฟ้อ

          ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่ว ๆ ไป โดยเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ  สาเหตุของเงินเฟ้อ มี 2 ประการ คือ เกิดจากอุปสงค์ตึง และเกิดจากต้นทุนผลัก เมื่อเกิดเงินเฟ้อจะมีผลกระทบต่อการกระจายรายได้ ความต้องการถือเงิน การสะสมทุน การคลังของรัฐบาล และการค้าระหว่างประเทศ การแก้ไขเงินเฟ้อ ทำได้โดยลดอุปสงค์มวลรวมลง  

 

สาเหตุ

 

            เงินเฟ้อมีสาเหตุหลายประการ  พอสรุปได้ดังนี้

            1. เกิดจากอุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น  คือ ภาวะที่ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าหรือบริการมีมากกว่าปริมาณความต้องการในการขายสินค้าหรือบริการทำให้ปริมาณสินค้าและบริการในตลาดขาดแคลน ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

            2. เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น   เนื่องจากระดับราคาวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น หรืออัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เป็นเหตุให้ราคาสินค้าสูงตามไปด้วย

 

 

ผลกระทบของเงินเฟ้อ

            เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้น   การใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นเพราะกลัวราคาสินค้าจะแพงขึ้นอีก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้า ทำให้ราคาสินค้ายิ่งสูงขึ้น  อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดผลดีหรือผลเสียต่อบุคคลแต่ละกลุ่ม ดังนี้

            1. ผลดีต่อพ่อค้า นักธุรกิจ เพราะขายสินค้าหรือบริการได้ราคาสูงขึ้น และส่งผลดีต่อลูกหนี้ เพราะเงินที่เป็นหนี้มีอำนาจซื้อลดลง ระดับราคาสินค้าสูงขึ้น จำนวนเงินเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลง เท่ากับลูกหนี้ใช้หนี้น้อยลง แม้นว่าจำนวนเงินที่ชำระจะยังคงเท่าเดิม นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดผลดีต่อกลุ่มบุคคลที่มีรายได้จากการเปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ เพราะสามารถเรียกค่าบริการ หรือตั้งราคาสินค้าได้ตามต้องการ เช่น แพทย์  ช่างตัดผม ช่างตัดเสื้อ เป็นต้น

            2. ผลเสียต่อผู้มีรายได้ประจำ เพราะรายได้เท่าเดิม แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย  เจ้าหนี้และผู้มีเงินออมจะเสียเปรียบ เพราะมูลค่าของเงินลดลง เช่น สมชายมีเงินฝากอยู่ในธนาคาร หนึ่งแสนบาท ในภาวะเงินเฟ้อ เงินหนึ่งแสนที่สมชายมีอยู่ จะมีค่าของเงินลดลงเพราะเงินเท่าเดิม แต่จะซื้อสินค้าได้น้อยลง หรือถ้าต้องการสินค้าเท่าเดิม ต้องจ่ายเป็นเงินเพิ่มขึ้น  เป็นต้น

 

แนวทางแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ

            เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นจะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเดือดร้อน ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงกำหนดแนวทางแก้ไข ดังนี้

            1. ใช้นโยบายทางการเงิน โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพื่อลดปริมาณเงินในมือประชาชนให้น้อยลง ทำให้ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลงนอกจากนี้ยังเพิ่มการขายพันธบัตรรัฐบาลให้ธนาคารพาณิชย์และประชาชนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ลดการรับชื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากประชาชนและลดการขยายเครดิตหรือปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์

            2. ใช้นโยบายการคลัง โดยเพิ่มการเก็บภาษีจากประชาชน ใช้งบประมาณแบบเกินดุล คือ ลดรายจ่ายภาครัฐให้น้อยลง แต่เพิ่มรายได้ของรัฐบาลโดยการเก็บภาษีให้มากขึ้น เพื่อลดปริมาณเงินในมือประชาชนให้น้อยลง

 

        การเปลี่ยนแปลงขึ้นลง ซ้ำ ๆ กันของเศรษฐกิจ ซึ่งมี 4 ระยะ คือ ระยะรุ่งเรือง  ระยะถดถอย  ระยะตกต่ำ  และระยะฟื้นตัว  ในแต่ละระยะมีเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน  ในแต่ละระยะไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเท่ากันเสมอไป และอาจใช้เวลาในแต่ละช่วงอยู่ระหว่าง 2 - 5 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในภาวะเศรษฐกิจ

 

วัฏจักรเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • เศรษฐกิจขยายตัว (Expansion / Recovery) เป็นช่วงที่การผลิตและการจ้างงานเริ่มเพิ่มขึ้น รายได้และรายจ่ายของครัวเรือนสูงขึ้น ทิศทางการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้น

  • เศรษฐกิจรุ่งเรือง (Peak) เป็นจุดสูงสุดของวัฏจักร ณ จุดนี้ระบบเศรษฐกิจจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการผลิตและการบริโภค เริ่มมีการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ระดับราคาสินค้าสูง ธุรกิจมีกำไรสูงตามไปด้วย

  • เศรษฐกิจถดถอย (Contraction / Recession) เป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มลดลง GDP และความต้องการสินค้าโดยรวมลดลง ธุรกิจเริ่มขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน การผลิตและการจ้างงานลดลง

  • เศรษฐกิจตกต่ำ (Trough) ช่วงเวลานี้การว่างงานสูง ความต้องการสินค้าโดยรวมลดลง สินค้าที่ผลิตขึ้นมาไม่สามารถขายได้ กำไรของธุรกิจลดลง การขยายตัวทางธุรกิจจะอยู่ในอัตรต่ำ เนื่องจากความเสี่ยงในการขาดทุนสูง


สาเหตุ 

          สาเหตุการเกิดวัฏจักรเศรษฐกิจ  เกิดจากสาเหตุภายนอกระบบเศรษฐกิจ และสาเหตุภายในระบบเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถบังคับไม่ให้เกิดวัฏจักรเศรษฐกิจได้ แต่เมื่อเกิดวัฏจักรเศรษฐกิจในระยะที่ไม่พึงปรารถนาแล้ว ก็สามารถป้องกันและแก้ไขได้โดยใช้นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้

วัฏจักรเศรษฐกิจ  

สาเหตุของเงินฝืด 

เงินฝืดเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

            1. เกิดจากปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าหรือบริการมีน้อยกว่าปริมาณความต้องการในการขายสินค้าหรือบริการ ทำให้สินค้าเหลือเกินความต้องการ ราคาสินค้าลดลง

            2. เกิดจากรัฐบาลเก็บภาษีมากเกินไป ทำให้ปริมาณเงินที่ประชาชนจะซื้อสินค้ามีน้อยลง

            3. ประชาชนเก็บเงินไว้กับตัวมากเกินไป ทำให้การบริโภคมวลรวมลดลง

            4. มีการส่งเงินตราออกไปต่างประเทศมากเกินไป ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมีน้อย

 

ผลกระทบของเงินฝืด

            เงินฝืดทำให้ผู้ผลิตขาดทุน การค้าซบเซา การผลิตเลิกกิจการ ลูกจ้างแรงงานตกงาน เกิดปัญหาว่างงาน  เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีจากผู้มีรายได้และผู้ผลิตได้ตามเป้าหมาย ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องแบกภาระในการแก้ปัญหาคนว่างงานและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ   อย่างไรก็ดี ภาวะเงินฝืดจะเป็นผลดีและผลเสียต่อบุคคลในกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

            1. ผลดีต่อผู้มีรายได้ประจำ เพราะซื้อสินค้าหรือบริการได้ในราคาลดลง ส่วนเจ้าหนี้และผู้มีเงินออมจะได้เปรียบ เนื่องจากราคาสินค้าลดลง ค่าของเงินเพิ่มขึ้น ทำให้อำนาจซื้อเพิ่มขึ้น

            2. ผลเสียต่อผู้ผลิต จะได้รับผลกระทบ เพราะราคาสินค้าลดลง อาจต้องประสบปัญหาขาดทุน   นอกจากนี้ ลูกหนี้ และนายธนาคาร จะเกิดความเสียเปรียบในด้านค่าของเงิน

 

แนวทางแก้ไขภาวะเงินฝืด

            เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด  การผลิตลดลง เกิดปัญหาว่างงาน เศรษฐกิจตกต่ำ    ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงกำหนดแนวทางแก้ไข ดังนี้

            1. ใช้นโยบายทางการเงิน โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในมือประชาชนให้มากขึ้น ทำให้ปริมาณความต้องการในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ยังลดการขายพันธบัตรรัฐบาลให้ธนาคารพาณิชย์และประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มการรับชื้อพันธบัตรรัฐบาลคืนจากประชาชนให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนให้สูงขึ้น ตลอดจนเพิ่มการขยายเครดิตหรือปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิต เพื่อช่วยให้การผลิตดำรงอยู่ได้

            2. ใช้นโยบายการคลัง โดยรัฐบาลใช้งบประมาณแบบขาดดุล คือ เพิ่มรายจ่ายภาครัฐให้มากขึ้น และลดรายได้ภาครัฐให้น้อยลง เพื่อทำให้ปริมาณเงินในมือประชาชนเพิ่มขึ้น

bottom of page